Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ความคิดริเริ่ม

นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร

นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เกิดที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ปัจจุบันมีอายุ ๘๒ ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในจังหวัดลำปาง เข้ามาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑

คุณหมอบุญยงค์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ย้ายไปประจำโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร และจังหวัดเลย ตามลำดับ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร และมีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายบ่อยครั้ง เป็นเวลาถึง ๑๗ ปีที่คุณหมอบุญยงค์ฯ ใช้ชีวิตการเป็นแพทย์อยู่ตามหัวเมืองด้วยความเสียสละ ขยันขันแข็งไม่ชอบการฟุ้งเฟ้อ และอุทิศเวลาเพื่อการงานอย่างสม่ำเสมอ ท่านป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอดมา

นอกจาก การใช้ความรู้ความสามารถในด้านเวชปฏิบัติ เอาใจใส่ดูแลรักษาประชาชนผู้ป่วยทางเวชกรรมทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่เลือกเวลา เวรยาม และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแล้ว คุณหมอบุญยงค์ ยังเป็นแพทย์ชำนาญทางศัลยกรรมที่มีฝีมือเยี่ยมอีกด้วย ในเขตอันตรายจากผู้ก่อการร้าย เช่นจังหวัดน่านนั้น โรงพยาบาลต้องปฏิบัติการผ่าตัดฉุกเฉินแก่ตำรวจ ทหาร และพลเรือนอาสาสมัคร ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะสู้รบอยู่เป็นประจำ คุณหมอบุญยงค์ ไม่เคยเหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่แม้แต่น้อย ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ให้แก่การผ่าตัดรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยโดยการลงมือด้วยตนเอง ให้การเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดอย่างเสมอต้นเสมอปลายทุกครั้งคราวไปจนเป็นที่อบอุ่นใจแก่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ถึงกับได้รับขนานนามว่า “ผู้พิทักษ์ยุทธภูมิ” ทางด้านประชาชนทั่วไปก็ได้รับความเคารพ ความชื่นชมและความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเป็นที่กล่าวขานของประชาชนว่า เป็น “ขวัญใจของคนยากไร้”

ในด้านวิชาการ คุณหมอบุญยงค์ ได้ค้นคิดดัดแปลงเครื่องมือในการให้บริการแก่ผู้ป่วยเจ็บให้สามารถใช้การได้อย่างทันท่วงที ได้อบรมและติดตามเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล ให้เอาใจใส่บริการแก่ผู้ป่วยให้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้าย จนทำให้ขวัญและกำลังใจทหาร ตำรวจ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในโรงพยาบาลแห่งนี้อย่างเต็มที่ เพราะมั่นใจได้ว่า หากได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องส่งมารักษาถึงกรุงเทพฯ

ด้านการบริหารงาน คุณหมอบุญยงค์ฯ มีความเป็นผู้นำจนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับนับถือของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกระดับ นับตั้งแต่การจัดระบบงาน การบำรุงขวัญ กำลังใจเจ้าหน้าที่ มนุษยสัมพันธ์ การให้ความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนการให้ความสนับสนุนแก่ศูนย์การแพทย์ และอนามัยต่าง ๆ

ผลจากการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านการให้บริการผู้เจ็บป่วย ทำให้คุณหมอบุญยงค์ ได้รับการเสนอให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า สะดวกสบายกว่าหลายต่อหลายครั้ง แต่คุณหมอได้ปฏิเสธไปทุกครั้ง เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อความอยู่รอดของพี่น้องประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือนอาสาสมัคร ผู้ต้องเหน็ดเหนื่อยเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยและเอกราชของประเทศชาติตลอดมา

จนปี 2552 โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริฯ เริ่มเข้ามาในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบจังหวัดแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีความสำคัญในฐานที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน แน่น้ำยม มีปริมาณน้ำที่ร้อยละ 45 ที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพการเกษตร มีพื้นที่ราบเพียง 45% ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อที่ป่าและภูเขา จึงทำให้เกิดการบุกรุกเข้าทำกินในพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่ง “ฟองน้ำ” สำหรับซับน้ำเกิดสภาพบกพร่อง คุณหมอบุญยงค์ จึงได้เข้าไปเป็นกำลังสำคัญในโครงการพัฒนาจังหวัดน่านนี้ ในตำแหน่งประธานคณะทำงานภาคประชาชน โครงการปิดทองหลังพระฯ และปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสถาบันปิดทองหลังพระฯ

คุณหมอบุญยงค์ กล่าวว่า โครงการปิดทองหลังพระ เป็นโครงการที่ถือกำเนิดมาจากศาสตร์ของพระราชา คือ องค์ความรู้ต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ชาวไทยทั้งมวล จากการที่ทรงงานอย่างหนักมาหลายสิบปี ตกผลึกมาได้ว่า สำหรับคนพื้นที่ คนที่ยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นชาวเขา คือคนที่มีลักษณะของการตัดไม้ทำลายป่าสูงนั้น เป็นเรื่องของการที่จะต้องอาศัยอาชีพเกษตรที่ดีให้กับเขา

“ศาสตร์แห่งพระราชานี้ เป็นศาสตร์ที่น่าจะแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยได้ อย่างน้อย 70% ของประชากรในประเทศไทย นับแต่โครงการปิดทองหลังพระฯ ลงมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดน่าน มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน ประการที่หนึ่งคือพื้นที่นำร่องที่อยู่บน 3 อำเภอ คือ อ.สองแคว อ.ท่าวังผา อ.เฉลิมพระเกียรติ ไปได้ไกลมาแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นๆ จังหวัดได้เร่งทำให้เป็นพื้นที่ขยายผล อำเภอละ 1-2 แห่ง ซึ่งคิดว่าในปี 2556-2557 จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี”

ปัจจุบันชุมชนตื่นขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตนเอง ปัญหาสำคัญของเมืองน่านขณะนี้คือการตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมีสูงมาก การทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ รุนแรง ทำให้โลกร้อนขึ้น เหมือนตอนที่เราหนาวเราก็ไปตัดไม้มาทำฝาบ้าน พอหิวเราก็ไปเลาะฝาบ้านมาทำฝืนก่อไฟ พอหายหิวหายหนาวเหลียวกลับไปดูบ้านก็ไม่มีแล้ว ถ้าหนาวอีก หิวอีกจะทำอย่างไร บ้านก็ไม่มีแล้ว การแก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุให้คนอยู่กับป่าให้ได้ อยู่อย่างนบน้อมต่อสิ่งแวดล้อม การทอดผ้าป่านี้เป็นการทอดมิติใหม่ที่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่เป็นการทอดที่ทั้งผู้ให้และผู้รับได้ประโยชน์ด้วยกันการฟื้นฟูป่าน้ำนี้ ข้าราชการทั้งหลาย ผู้นำอปท. ผู้นำท้องที่ ต้องใส่ใจให้ความสำคัญเอามาเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการ องค์กรภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปิดทอง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง หรือหน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาช่วยด้านองค์ความรู้ ระบบการจัดการบางอย่าง ซึ่งสักวันก็ต้องไป เพราะมีพื้นที่อีกมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ คนในพื้นที่ หน่วยงานในพื้นที่จึงต้องเป็นเสาหลักในการดำเนินการ....”

“....ทุนที่สำคัญ ๓ อัน ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน หนึ่ง คือ ศรัทธา หรือปวารณา ที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของชุมชนเอง สอง คือ ทุนการดูแลรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์ กำหนดเขต การสำรวจป่า การทำแนวกันไฟต่างๆ และ สาม คือ ฝายประชาอาสา เป็นเหมืองฝายที่จะเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนโดยการสนับสนุนผ้าป่าจากองค์กรต่างๆ เข้ามาหนุนเสริม…”