Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ความคิดริเริ่ม

ธนาคารต้นไม้ บ้านนาเหลืองใน หนึ่งตัวอย่างของการ ปลูกต้นไม้ในใจคน

​​ชุมชนบ้านนาเหลืองใน อำเภอเวียงสา เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งของจังหวัดน่าน ที่มีอายุราวประมาณ 200 กว่าปี ตามประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านกล่าวไว้ว่า สมัยเจ้าผู้ครองนครน่านมอบหมายให้ ปู่พระยาแสนหลวงมณเฑียร พาเอาครอบครัวราษฎร เข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณลำห้วยนาเหลือง และทำการตีฝายกั้นลำน้ำห้วยนาเหลือง เพื่อทำดึงน้ำจากลำห้วยเข้ามาสู่ที่นาหลวง (นาของราชสำนักเมืองน่าน) แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตเข้ามาใส่ยุ้งฉางหลวง จึงมีชื่อเก่าของหมู่บ้านอีกชื่อว่า บ้านนาเหลืองฉางข้าว จากการที่ชุมชนตั้งอยู่เขตต้นน้ำของลำห้วยนาเหลือง บรรพบุรุษในอดีตจึงมีการสงวน อนุรักษ์ รักษาป่าที่อยู่บริเวณเขตฝายเอาไว้โดยผ่านพิธีกรรมความเชื่อของคนในชุมชน โดยเชื่อว่าป่าบริเวณดังกล่าว มีผีบรรพบุรุษคอยปกปักรักษาอยู่ใครจะเข้าไปตัดไม้ หรือจับจองเอาที่บริเวณนั้นมาเป็นที่ทำกินของตนไม่ได้เป็นการผิดผี และทุกๆฤดูปลูก และฤดูเก็บเกี่ยวจะต้องมีการบวงสรวง หรือที่เรียกว่า พิธีเลี้ยงดง ความเชื่อและพิธีกรรมนี้ชุมชนยังมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2548 ชุมชนได้มอบหมายเขตป่าฝายให้วัดนาเหลืองในทำพิธีบวชป่า ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นกุศโลบายในการร่วมกันอนุรักษ์รักษาผืนป่า ผ่านพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยให้พระสงฆ์พาคนในชุมชนเข้าไปกล่าวคำสัตย์สัญญาว่าจะไม่ตัดต้นไม้ในเขตป่า แล้วนำผ้าเหลืองผูกกับต้นไม้ไว้ ถือว่าต้นไม้ต้นนั้นได้ผ่านพิธีกรรมการบวชในพระพุทธศาสนาแล้วใครจะไปตัดโค่นไม่ได้จะเป็นบาปกรรมแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ โดยอาศัยความเชื่อของคนล้านนาที่ว่า "บ่ยำคน หื้อยำผ้าเหลือง บ่ยำเฟือง หื้อยำข้าวลีบ " ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่นับถือตัวบุคคลที่บวช ก็ให้นับถือผ้าเหลืองซึ่งเป็นผ้ากาสาวพัตรอันเป็นธงชัยในพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เห็นความสำคัญของฟางก็ควรให้เคารพนับถือเม็ดข้าวที่ยังเหลือติดอยู่บนฟางข้าว

และปี พ.ศ. 2550 ชุมชนได้นำเขตป่าฝายดังกล่าวเข้าร่วมโครงการป่าชุมชน ของกรมป่าไม้ ตามหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน เลขที่ 686 รหัสป่าชุมชน 5507050101 ซึ่งกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาป่าในพื้นที่ดังกล่าว และจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ในช่วงฤดูแล้งชุมชนจะมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า และมีการเก็บเมล็ดพันธุ์จากป่ามาเพาะ และนำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2556 ชุมชนได้นำป่าในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ ธนาคารต้นไม้ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำให้เริ่มมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลต้นไม้เบื้องต้น

ผลจากการที่ชุมชนนาเหลืองในมีป่าที่บรรพบุรุษได้หวงแหนรักษาเอาไว้ที่เรียกว่า “ป่าฝาย” แล้วส่งต่อมาจนถึงรุ่นลูกหลาน และชุมชนมีวิธีการจัดการป่าที่ประยุกต์เข้ากับวิธีการในยุคปัจจุบันในวิธีการต่างๆ ส่งผลให้ป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมเป็นอย่างดี จนปัจจุบันเรียกได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “ป่าชุมชนนาเหลืองใน”

พระมหาปิยะ ธีรังกุโร เจ้าอาวาสวัดนาเหลืองใน เล่าความเป็นมาว่า

“ธนาคารต้นไม้ บ้านนาเหลืองใน เริ่มจากดูแลต้นไม้เก่าที่มีอยู่แล้วของคนในชุมชน ธนาคารต้นไม้ ประโยชน์เดิมคือ กิน ปัจจุบันต้นไม้มีค่าเป็นเงินขึ้นมา เมื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเอาต้นไม้ของชาวบ้านมาร่วมเป็นโครงการธนาคารต้นไม้ โดยมีหลักในการทำงานเข้าร่วมโครงการ คือ ความร่วมมือของคนในชุมชน มีการเตรียมความพร้อมต่างๆ ดังนี้
1. รับรองเอกสารการสมัครโดยคณะกรรมการ ธกส.
2. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อรับหลักการเก็บข้อมูลต้นไม้ เอาไปทำอะไรต่อ ส่งอย่างไรให้มีมูลค่าขึ้นมา ต้นไม้แต่ละต้นมีมูลค่าต้นละ 1 บาท ถ้าไม่ตัดจะได้เงินเป็นประจำทุกปี

นับจากวันที่เข้าร่วมโครงการ ทุกคนในชุมชนมีกระบวนการทำงานดูแลรักษาป่าชุมชนอย่างเป็นระบบระเบียบ เริ่มตั้งแต่จับค่าพิกัดต้นไม้ที่มีอยู่ในป่า ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ทำเครื่องหมายบอกขนาดลำต้น และบอกแปลง ทั้งป่าชุมชน และป่าเอกชน มีต้นอะไรบ้าง ขนาดความโต ชื่อพื้นเมือง ชื่อสากล ในอนาคตมีโครงการจะทำชื่อวงศ์ ข้อมูลในภาคสนามนำมาจัดทำข้อมูล ตามหลักเกณฑ์ค่าพิกัด และบรรจุข้อมูลต้นไม้ลงในภาพดาวเทียม ฯลฯ

ในช่วงเริ่มต้นทำงานโครงการชุมชนพบปัญหาและอุปสรรคที่ต้องใช้ความอดทน เพียรพยายามและฝ่าฝันไปให้ได้ ไม่ว่าจะเรื่อง
1. ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ไม่รู้จัก GPS ก็ต้องอธิบายวิธีใช้ แต่โชคดีที่ชาวบ้านมีใจและมีแรง
2. การเก็บข้อมูล ค่าพิกัด เส้นรอบวง ชื่อพันธุ์ไม้ ในเรื่องชื่อพันธุ์ไม้คลาดเคลื่อนพอสมควร แต่ละพื้นที่จะเรียกชื่อต้นไม้ชนิดเดียวกันไม่เหมือนกัน เช่น ต้นสะเคาะ บางแห่งเรียกต้นโชค ก็ต้องไปตรวจสอบชื่อที่ถูกต้องในหนังสือพันธุ์ไม้
3. ชุมชนให้ข้อมูลมาแล้วไม่รู้จะจัดการอย่างไร แต่ได้ คุณบุญเทือง ชัยวุฒิ และคุณกิตติศักดิ์ โลจันติ พระมหาปิยะ ผู้เป็นกำลังสำคัญและคณะกรรมการ มาทำงานร่วมกันกับเด็กและเยาวชน ช่วยกันใช้เทคโนโลยี Computer นำข้อมูลชาวบ้านมาพิมพ์เป็นตาราง Excel นำค่าพิกัดมาจัดการข้อมูล ไปแสดงระบบข้อมูลภาพ ใน Google earth เพื่อเตรียมข้อมูลเข้าร่วมโครงการทำเป็นเอกสารประกอบสนับสนุนจาก ธกส. เรียกว่า “โฉนดต้นไม้” ที่หน้าตาคล้ายกับโฉนดที่ดิน ประกอบด้วย ชื่อแปลง ภาพถ่ายดาวเทียม ที่ระบุพิกัดประเภท และจำนวนต้นไม้ มาตรวจสอบกับเทคโนโลยี ระบุได้ว่าเป็นต้นไม้จริง ผ่านการเก็บข้อมูล ทุกต้นที่อยู่ในโครงการจะได้ดอกเบี้ยต้นละ 1 บาท และต้องสรุปข้อมูลส่งให้ ธกส. ทุก 4 ปี นอกจากนี้ยังตั้งกฎระเบียบชุมชน ใครถือวิสาสะตัดต้นไม้ ในป่าชุมชน กรรมการธนาคารต้นไม้ต้องบันทึกถ้าต้นไม้ถูกตัด ต้องอธิบายเหตุผลในการตัดต้นไม้

จากการระดมแรงใจแรงกายทำข้อมูลป่าดังกล่าว จากปี 2556 ที่มีสมาชิก 40 ครัวเรือน จนวันนี้มีสมาชิกถึง 100 ครัวเรือน คุณบุญเทือง เล่าว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีอาชีพปลูกยางพารา ที่รวมตัวกันทำคือเข้าเวรระวังไฟป่า ต้นยางอายุ 5-6 ปีถ้าถูกไฟไหม้จะเสียเวลามาก และนี่คือจุดเริ่มต้นของธนาคารต้นไม้ ในปี 2536 เกษตรกรทดลองเอายางพารามาปลูก ได้ผลผลิตตกกิโลกรัม ละ 8 บาท ตอนนี้มีสมาชิก 200 คนที่มาเข้าเวรระวังไฟ รวม 3 ตำบลคือ ต.นาเหลืองใน ต.จอมจันทร์ และ ต.ตาลชุม มารักษ์ป่า รักประโยชน์ของเขา เราหวงแหนป่ารอบข้าง เมื่อลืมตาอ้าปากได้ก็จะพัฒนา

ผลลัพธ์ที่ได้การทำข้อมูลป่าให้เป็นระบบระเบียบทั้งหมดนี้ พบว่า ต.บ้านนาเหลืองใน มีพื้นที่ 211 ไร่ มีต้นไม้ 6 หมื่นต้น ที่สำรวจไปแล้ว 2 หมื่นต้น ทั้งป่าชุมชนหัวไร่ปลายนา ไม่นับยางพารา แต่ “ปลูกยางพารายังดีกว่าปลูกข้าวโพด และต้องไม่ปลูกบนพื้นที่เปิดใหม่ แต่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ยางพาราถือเป็นพืชเกษตรยืนต้นในระยะหนึ่ง แต่ป่าก็ยังดีกว่ายางพารา”

เมื่อเห็นข้อมูลป่าดังกล่าว ชาวบ้านนาเหลืองในจึงต้องช่วยกันรักษาต้นไม้เดิม พยายามเพิ่มพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน เมื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ได้ ก็รักษาของเดิมโดยเพิ่มปริมาณต้นไม้ ด้วยความตั้งใจนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่การรวมตัวของชุมชน เด็กเยาวชน ผู้ชาย แม่บ้าน คนแก่ พระสงฆ์ ความสามัคคีชุมชนที่จะทำกิจกรรมมากมาย เช่น “แปลงเพาะกล้าไม้” ในที่ส่วนบุคคล ของคุณประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ ที่สมาชิกผู้สูงอายุเวลาว่างจะนัดกันมาช่วยกรอกดินใส่ถุงเตรียมเพาะกล้าไม้ เพาะกล้ายางนา งิ้วดอกแดง พะยูง ไผ่ มะขาม เพาะกล้าไม้พื้นถิ่น ยางเหลือง ยางนา ตะแบก ประดู่ และชุมชนจะนำกล้าไม้ที่เพาะไว้ไปเพิ่มปริมาณต้นไม้ในป่าชุมชน โดยชาวบ้านในพื้นที่จะรู้ว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับกล้าไม้ใหม่ที่จะปลูก เช่น ต้นกล้าผักหวานและกาแฟปลูกใต้ไม้ใหญ่ ชุมชนนำไปใช้เป็นอาหารได้ และใต้ต้นไม้ใหญ่อย่างยางนา เมื่อใบหล่น จะกลายเป็นที่เพาะเห็ดป่า ในส่วนของธนาคารต้นไม้ จากเดิมชาวบ้านที่รอเพียงเบี้ยยังชีพ ก็เปลี่ยนมาเพาะกล้าไม้บันทึกลงเวลาไว้ เมื่อขายพันธุ์ไม้ได้ก็เอาเงินมาแบ่ง นอกจากนี้ ยังศึกษาพันธุ์หญ้าเนเปียร์ สำหรับเลี้ยงสัตว์ โค กะบือ ชาวบ้านก็จะเห็น นอกจาก 1 บาทในโครงการธนาคารต้นไม้ ก็ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ฯลฯ เงินเล็กน้อยแลกกับความภูมิใจ สุขภาพจิตก็ดี คนแก่ก็เลิกซึมเศร้า มาเปิดวิทยุฟังซอ เพลงคำเมือง ซึ่งหลายๆ ชุมชนอยากเห็นภาพแบบนี้

และเป็นความโชคดีของบ้านนาเหลืองในที่ได้ผู้นำชุมชนเป็นคนพูดจริงทำจริง เมื่อชาวบ้านเห็นก็จะทำตาม และต้องเสียสละบ้างในบางเวลา จากตัวอย่างเล็กๆ เช่นคุณภิรมย์ ที่เข้าป่าเข้าไปทำแนวกันไฟในที่ของแกและบริเวณใกล้เคียง ทำอย่างที่ใจรักในความเชื่อที่ว่า "ก่อนจะปลูกต้นไม้ลงดิน ให้ปลูกต้นไม้ในใจคน" ชาวบ้านเห็นสงสารก็เลยไปช่วยทำ ฉันต้องเอาประโยชน์จากต้นไม้ ซึมซับ คุณค่าประโยชน์ของต้นไม้ เขาให้ประโยชน์กับเรา มีต้นไม้บ้านเรา เหมือนติดแอร์ธรรมชาติ รัก และหวงแหน ธรรมชาติวันนี้ ทำให้ต้องคิดแล้วคิดอีกก่อนที่จะตัดไม้สักต้น

สมัยก่อนบ้านนาเหลืองใน ในสมัยปู่ ย่า ตา ยาย แสนจะกันดาร เมื่อไม่นานมานี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเที่ยว ต.นาเหลืองใน เห็นความเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นวาระจังหวัด เมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ 1 อำเภอ 1 ลุ่มน้ำ + 1 ธนาคารต้นไม้ และคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อมมาดูงาน ปัจจุบันธนาคารต้นไม้บ้านนาเหลืองในกลายเป็นโรงเรียน คณะกรรมการเป็นวิทยากรให้ความรู้ เราไม่มีความรู้ แค่มีประสบการณ์ที่จะถ่ายทอด

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนเห็นความสำคัญของป่าก็จะไม่ตัดป่า และอีก 10-20 ปี ก็จะเริ่มปลูกป่าออกไปข้างนอก ปลูกอะไรก็ตามต้องได้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน และนี่คือ “ธนาคารต้นไม้บ้านนาเหลืองใน” ที่ทุกคนในชุมชนต่างภาคภูมิใจ

​​