Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ความคิดริเริ่ม

พระครูพิทักษ์นันทคุณ

​“พระนักพัฒนา” แห่งจังหวัดน่าน ผู้ริเริ่มให้มีป่าสงวนหมู่บ้าน รณรงค์การดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรพืชพรรณไม้ สมุนไพร การดูแลรักษาพันธุ์สัตว์น้ำและต้นไม้ พิธีสืบชะตาต้นน้ำ ซึ่งได้เป็นต้นแบบของวิธีการอนุรักษ์ในหลายๆ จังหวัดได้สร้างเครือข่ายองค์กรเบญจภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มูลนิธิฮักเมืองน่าน” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นต้นแบบของคงค์กรที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกส่วนในสังคมองค์ความรู้ ในวัยเด็กดช.สงวน อยู่ในสภาพแวดล้อมของภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ พ่อมีอาชีพเป็นพรานล่าสัตว์ ได้มีโอกาสติดตามบิดาออกป่าล่าสัตว์อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งที่บิดาตามยิงค่าง 3-4 ตัว ค่างตัวหนึ่งซึ่งมีลูกเกาะติดหลังอยู่ ทำให้วิ่งช้าจึงถูกยิง พ่อจะฆ่าลูกค่างทิ้งเพราะทราบว่าลูกค่างอย่างไรเสียก็ต้องตาย แต่ดช.สงวนขอชีวิตไว้และอุ้มกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้านก็เอาลูกค่างใส่สุ่มไก่ขังครอบไว้ ลูกค่างที่ถูกขังไม่ยอมกินอะไรและร้องอยู่ตลอดเวลา ด้วยความสงสาร ท่านจึงปล่อยลูกค่างออกจากกรง ลูกค่างก็วิ่งปีนขึ้นไปสูดดมกลิ่นหนังแม่ค่างที่ตากเอาไว้ พอเหนื่อยก็ตกลงมาแล้วปีนขึ้นไปใหม่จนเหนื่อยและสิ้นใจตาย ท่านเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจอยากให้บิดาเลิกล่าสัตว์ แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากการล่าสัตว์หาของป่าคือความอยู่รอดของครอบครัว ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการเผยแพร่แนวคิดการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

บวชป่า : พ.ศ. 2523 เกิดกระแสการรับรู้และให้ความสำคัญเรื่อง “ป่าชุมชน” จึงนำเข้ามาปรับประยุกต์กับที่ทำอยู่แต่เดิมได้ดำเนินการ “บวชป่า” และถวายทานผ้าป่าต้นไม้” เป็นครั้งแรกในจังหวัดน่าน ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ของป่าสงวนหมู่บ้านและมอบหมายให้กรรมการหมู่บ้านดูแลพร้อมประกาศชื่อป่าสงวนของหมู่บ้านเป็น “ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วง” มาจนถึงปัจจุบัน สร้างกระแสรักป่าจนผลที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง หน่อไม้ ผักหวาน อาหารป่าที่มีให้เก็บกินอย่างอุดมสมบูรณ์พระครูพิทักษ์นันทคุณได้ใช้กุศโลบายโดยใช้พิธีบวชป่า ซึ่งประยุกต์มากจากการบวชคนมาใช้บวชต้นไม้ “บวช” แปลว่า เว้นชั่ว บวชคน เพื่อให้คนที่บวชเว้นการทำชั่วทำบาปทั้งปวงบวชป่า เพื่อให้คนเว้นการตัดไม้ทำลายป่า ผ้าป่าต้นไม้พิธีถวายทานผ้าป่าต้นไม้ เป็นพิธีกรรมที่ประยุกต์มารจากการถวายผ้าป่าเงินโดยการถวายทานผ้าป่าต้นไม้ จะจัดคู่กับพิธีบวชป่า โดยผ้าป่าต้นไม้จะเป็นการระดมกล้าไม้พันธุ์ไม้ เพื่อนำไปปูลกในวันนั้นๆ และระดมเงินทุนไปตั้งเป็นกองทุนเอาไว้ดูแลรักษาป่ารักษาต้นไม้ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า ทำแนวกันไฟ

พิธีสืบชะตาต้นน้ำ : พ.ศ. 2536 พระครูพิทักษ์นันทคุณ ได้นำกลุ่มฮักเมืองน่าน (ปัจจุบันเป็นมูลนิธิฮักเมืองน่าน) ออกสำรวจแม่น้ำน่าน เนื่องจากแม่น้ำน่านเปรียบเสมือนหัวใจของจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก โดยออกเดินทางหาข้อมูลตั้งแต่ขุนน้ำน่าน จนถึงปากน้ำใช้เวลากว่า 1 เดือน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการทำลายระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม จากนั้น จึงได้ทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำน่านเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2536 พิธี “สืบชะตาต้นน้ำ” เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่ท่านใช้เป็นกุศโลยายโน้มนำจิตใจให้ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำธาร ไม่ทิ้งขยะ ไม่ปล่อยน้ำเน่า น้ำเสียและสารพิษลงสู่แม่น้ำ ลำธาร กันเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเป็นเขตอภัยทาน ห้ามจับสัตว์น้ำในในเขตหวงห้าม จัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยว

กลุ่มฮักเมืองน่าน : พ.ศ. 2533 มีการประยุกต์พิธีกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาในงานอนุรักษ์ เช่น บวชต้นไม้ ทอดผ้าป่า อนุรักษ์ สืบชะตาป่า พื้นที่ทำงานขยายออกไปจากบ้านกิ่วม่วง ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในเขตกิ่งอำเภอสันติสุข ข้ามไปกิ่งอำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอเมือง และกิ่งอำเภอบ้านหลวง จนมีพื้นที่ป่าชุมชนหลายหมื่นไร่ ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายทั้งป่าไม้ คนในวงการต่างๆ ทั้งราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน พระสงฆ์ ผู้นำชาวบ้านจำนวนมาก เข้าร่วมขบวนการอนุรักษ์นี้ จนเกิด “กลุ่มฮักเมืองน่าน” คำว่า “ฮักเมืองน่าน” หมายถึงการรวมตัวของทุกๆ คนหลายๆ ความคิดแล้วร่วมกันทำงานมิใช่ทำงานเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คน เป็นการทำงานร่วมกันของคนที่มีแนวความคิดอิสระทำโดย “ไม่เอาไม่เป็น” ทำงานด้วยความรักที่จะทำ ทำด้วยศรัทธาที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เพราะฉะนั้นเครือข่ายฮักเมืองน่าน จึงขยายขอบเขตออกไปอยู่ตลอดเวลา

การถ่ายทอดองค์ความรู้ ท่านได้ถ่ายทอดแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากร พืชพรรณไม้ การดูแลรักษาพันธุ์ปลาและต้นน้ำ โดยการสอดแทรกในการเทศน์สั่งสอนทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งในโรงเรียน สถานศึกษา และงานประเพณีต่างๆ การถ่ายทอด ปลูกฝังแนวคิดนั้น พระครูพิทักษ์นันทคุณจะใช้สื่อต่างๆ ทั้งในรูปของแผ่นพับ สไลด์ วีดีโอ เทปบันทึกเสียง และอุปกรณ์ ประกอบการบรรยายหลากหลายชนิด โดยมีมูลนิธิฮักเมืองน่าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเผยแพร่แนวคิดและประสานให้เกิดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พันธุ์ปลาและต้นน้ำให้กว้างขวางขยายวงออกไปต้นแบบให้อีกหลายๆ จังหวัด