Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ความคิดริเริ่ม

ป่าชุมชนศิลาแลง...ให้น้ำ ให้นา ให้ชีวิต
​​​​​การจั​​​ดการทรัพยากรป่าชุมชนตำบลศิลาแลง เริ่มต้นจากตำบลศิลาแลงประสบปัญหาภัยพิบัติในแต่ละปีเกิดฤดูน้ำไหลหลากอย่างแรง พัดเอาต้นไม้ ขอนไม้ หรือเศษไม้ที่ชาวบ้านได้ตัดและถางป่าสำหรับการทำไร่ทำสวนเข้ามาในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำเปลี่ยนสาย เปลี่ยนแคว เกิดไร่นาเสียหายทุกปี นอกจากนั้น ในฤดูแล้งก็เกิดภาวะแล้งหนัก ไม่มีน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก ขณะนั้นประมาณก่อนปี ๒๕๑๘ ตำบลยังไม่มีข้อตกลง กฎระเบียบในการจัดการป่า และจัดการน้ำ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านคิดว่า หากชุมชนยังไม่มีการจัดการป่า จัดการน้ำ จะเกิดผลเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงใช้วิกฤติเป็นโอกาสโดยรวมกลุ่มคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้นำแต่ละหมู่บ้านโดยเริ่มคิดว่าอันดับแรกต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้านให้ช่วยกันดูแลผืนป่า ไม่ทำไร่เลื่อนลอย ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดในเขตป่าต้นน้ำ ซึ่งหากมีการจัดการฟื้นฟูป่าให้ดี น้ำมาตามฤดูกาลแล้ว ชาวบ้านก็จะสามารถทำไร่ทำนาได้เต็มที่ และความเสียหายจากน้ำหลากก็จะลดลง ในปี ๒๕๑๘ แกนนำชุมชนจึงร่วมกันสร้างระเบียบมาตรการดูแลจัดการป่า ซึ่งระยะแรกประสบปัญหาเพราะยังมีชาวบ้านเข้าไปตัดไม้มาเลื่อยขายบ้าง มาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยบ้าง ทำให้คณะกรรมการป่าร่วมกันหาวิธีจัดการปัญหาดังกล่าว สุดท้ายจึงใช้วิธีพิจารณาการสนับสนุนของสภาตำบล (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล) มาเป็นเงื่อนไขในการจัดการ หากชุมชนไหนตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุด การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้านก็จะมาเป็นอันดับสุดท้าย หรือบางปีอาจจะไม่ได้รับงบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้านเลย ข้อนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มคิดทบทวนมากขึ้น และระยะต่อมา แต่ละชุมชนก็เริ่มมีมาตรการดูแลกันเองในชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า สำหรับการเพิ่มพื้นที่ป่า ชาวบ้านไม่ได้ใช้วิธีปลูกป่า แต่ใช้วิธีดูแลฟื้นฟู ปล่อยให้ต้นไม้ที่มีอยู่ในป่าโตเอง มีการปิดป่า งดการทำไร่เลื่อนลอย งดการทำไร่ข้าวโพด และอนุโลมการใช้ไม้ในบางกรณี เช่น การนำไม้มาสร้างหรือซ่อมแซมสถานที่ต่างๆ ของชุมชน เช่น สะพาน เหมืองฝาย เป็นต้น

ผลจากการอนุรักษ์ดูแลป่าทำให้ได้พื้นที่ป่าต้นน้ำที่ไม่มีการเข้าไปทำลาย ๑๐,๑๒๕ ไร่ เมื่อมีป่า น้ำก็เริ่ม มาทำให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี มีรายได้เพิ่มขึ้น การเข้าไปตัดไม้เพื่อขายก็หมดไป ส่วนไม้ที่นำมาใช้สอย ชาวบ้านมีทางเลือกจากการซื้อไม้จากโรงเลื่อยซึ่งราคาถูกกว่า สะดวกสบายกว่า ไม่ต้องเข้าไปตัดไม้เอง การตัดไม้เพื่อนำมาใช้สอยก็หมดไปโดยปริยาย ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการจับขอบเขตป่าโดยวิธีการใช้สันห้วยเป็นตัวกำหนดขอบเขตว่าสันห้วยไหนเป็นของตำบลศิลาแลง สันห้วยไหนเป็นของตำบลวรนคร สันห้วยไหนเป็นของตำบลภูคา แต่ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัด และทำขอบเขตให้ชัดเจนมากขึ้น โดยพื้นที่ป่าของตำบลศิลาแลงมีการแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

  1. ป่าอนุรักษ์ : ป่าต้นน้ำไม่สามารถตัดไม้มาใช้สอยได้
  2. ป่าใช้สอย : ป่าที่หมู่บ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
  3. ป่าหัวไร่ปลายนา : ป่าที่ชาวบ้านปลูกต้นไม้ไว้ตามหัวไร่ปลายนา

สามารถตัดใช้ประโยชน์ในครอบครัว ได้โดยไม่ผิดกติกาของชุมชน

เมื่อป่าเริ่มฟื้นมีความอุดมสมบูรณ์จากการไม่ได้เข้าไปทำไร่ของชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านคิดต่อคือ ต้องหาอาชีพเสริมตามวิถีชีวิตที่คนอยู่กับป่าได้ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น ตำบลศิลาแลงจึงได้เริ่มส่งเสริมอาชีพทอผ้าของกลุ่มแม่บ้าน ใช้สีของไม้ในป่ามาทำสีย้อมฝ้าย ทำไม้กวาด เป็นต้น กิจกรรมนี้ยังคงทำมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นผลพวงที่เกิดอีกประการหนึ่งจากการฟื้นฟูป่าคือ เริ่มมีอาหารเกิดขึ้นในป่าทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร และพืชผักต่างๆ จะเห็นได้ว่าผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่ามีหลายมิติมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สืบทอดภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรบรรจุเข้าในโรงเรียน ๒ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชุมชนศิลาแลง และโรงเรียนไตรประชาวิทยา โดยถ่ายทอดความรู้เรื่องป่าจากผู้เฒ่าสู่เด็กนักเรียน และในบางเวลาก็พาเด็กนักเรียนเดินป่า สำรวจป่า ดูวิถีชีวิตธรรมชาติว่าป่ามีประโยชน์อย่างไร ประโยชน์ของต้นไม้แต่ละชนิดเป็นอย่างไร โดยปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลฟื้นฟูป่าเพราะเขาเชื่อว่า “ป่าคือชีวิต” ไม่ได้คิดว่าการอนุรักษ์ป่าแบบนี้จะต้องได้รับรางวัลหรือสิ่งตอบแทนจากองค์กรใด แต่เมื่อเริ่มมีบทเรียนที่ดี ก็เริ่มมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยสนับสนุน โครงการ ๘๔ ตำบลวิถีพอเพียง เป็นการจัดการป่าโดยการน้อมนำปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการจัดการป่าที่ยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยจัดการต้นน้ำเข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุนด้วย จนชุมชนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวพร้อมกับกองทุนรักษาป่า และได้รับ “ธงพิทักษ์ป่า” จาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ แม้ชุมชนจะมีการจัดการป่าดีขึ้น แต่ก็ยังเกิดปัญหาระหว่างชุมชนกับอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ประมาณปี ๒๕๓๓ เกิดการอ้างสิทธิ์ในการจัดการป่า เพราะอุทยานฯ ถือขอบเขตตามแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นตัวกำหนดว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำตำบลศิลาแลงอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ สิทธิ์ในการดูแลป่าจึงเป็นของกรมอุทยานฯ ซึ่งชุมชนไม่ยินยอมเพราะถือว่า เขาอยู่กับป่ามานานตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการพูดคุยเพื่อหาทางออกกันหลายครั้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุป และไม่มีความขัดแย้งขั้นรุนแรง ลักษณะความเป็นอยู่จึงเป็นแบบต่างคนต่างทำหน้าที่ ต่างฝ่ายต่างดูแลรักษาป่า ชุมชนยังคงมีกิจกรรมการดูแลฟื้นฟูป่าอย่างต่อเนื่อง ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็เฝ้าระวังตามภารกิจ เพราะมองในแง่กฎหมายแล้ว กรมอุทยานฯ ก็มีหน้าที่ต้องยึดถือปฏิบัติ แต่ถ้ามองในแง่ความผูกพันของคนกับป่า ชุมชนก็อาศัยอยู่ดูแลและเป็นเจ้าของมาอย่างยาวนาน

จากการจัดการป่า เมื่อเริ่มฟื้นตัว ป่าก็มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น น้ำก็มากขึ้น “การจัดการทรัพยากรน้ำ” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญตามมา เพราะหากไม่มีการจัดการน้ำที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น น้ำจะทำลายเหมืองฝายเดิมที่สร้างด้วยไม้ซึ่งไม่มั่นคงถาวร ในปี ๒๕๓๔ จึงได้มีการเปลี่ยนฝายไม้มาเป็นฝายคอนกรีตให้แข็งแรงถาวรและสามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้สามารถส่งต่อน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้เกิดการทำนาได้อย่างเต็มที่ มีการเพิ่มพืชหลังนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว ฝายคอนกรีตนี้ได้จากการเสนอโครงการไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานแรกคือ กรมชลประทาน ต่อมามูลนิธิปิดทองหลังพระให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมฝายที่เสื่อมสภาพ โดยชาวบ้านร่วมออกแรงซ่อมสร้าง จนตำบลศิลาแลงได้ ๒ เหมืองฝายหลักส่งต่อน้ำไปยังชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ คือ เหมืองแก้งสายตะวันออก และเหมืองแก้งสายตะวันตก

ผลจากการจัดการระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่นาของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านตำบลศิลาแลง เริ่มปลูกพืชผักหลังนามากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืชหลังนาโดยใช้พื้นที่น้อย ชาวบ้านในตำบลนี้มีพื้นที่ทำกินเฉลี่ย ๕ ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์รับรอง จากการมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดนี้ทำให้ชาวบ้านต้องวางแผนบริหารจัดการปลูกพืชหลากหลาย และคำนวณผลตอบแทนให้ดี เพื่อทดแทนรายได้ที่เคยได้จากการขายข้าวโพด พืชที่ปลูกมีทั้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน และขายในชุมชน รวมทั้ง ปลูกเพื่อขายเมล็ดให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาต่อมาของชุมชนคือ ยังมีการใช้สารเคมีในการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ขายให้กับบริษัทอยู่ประมาณ ๔๐% โดยสิ่งที่ชุมชนพยายามทำคือ การใช้ปุ๋ย/สารเคมีในระดับที่ปลอดภัย และเริ่มมีการเรียนรู้วิธีทำปุ๋ยหมักชีวภาพทดแทนปุ๋ยสารเคมี ซึ่งได้รับคำแนะนำจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในตำบล

หลังจากได้ทำมาทั้งงานอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า จัดการน้ำ และส่งเสริมอาชีพแล้ว สิ่งดีดีที่เกิดขึ้นจากผลบุญเหล่านี้ทำให้หลายคนหลายครอบครัวที่อพยพไปทำงานต่างจังหวัดเริ่มกลับคืนถิ่น กลับมาทำการเกษตรที่เห็นว่ามีความต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เพราะปลูกพืชได้ตลอดปี โดยไม่ทิ้งพื้นที่ให้ว่างเปล่าเมื่อมีรายได้เพิ่ม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในครอบครัวดีขึ้น ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่เป็นผลพวงจากความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และน้ำ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จเหล่านี้คือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพราะด้วยคนในชุมชนตำบลศิลาแลงเป็นชาติพันธุ์ไทลื้อ มีความเป็นเครือญาติสูง ทำให้การพูดคุยกันง่าย มีส่วนร่วม และตระหนักถึงปัญหา คิดอ่านหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ

มุมมองต่อการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำน่าน และการขยายผล ตำบลศิลาแลงมีเวทีพูดคุยกันหลายครั้งถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อยากขยายวิธีการ แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าของตำบลศิลาแลงไปยังพื้นที่ตำบลใกล้เคียง แต่ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะข้อจำกัดของหลายตำบลใกล้เคียงคือ สภาพพื้นที่เป็นที่สูง ไม่มีพื้นที่ราบลุ่มทำการเกษตร ยังคงต้องมีอาชีพเกษตรกรในพื้นที่สูงอยู่ สิ่งที่น่าจะพอเป็นแนวทางได้คือ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลที่มีที่ทำกินในพื้นที่ป่าต้นน้ำปรับเปลี่ยนอาชีพเสริมอย่างอื่นที่ไม่ทำลายป่า ประการสำคัญอาชีพเหล่านั้น ต้องสร้างรายได้ให้ครอบครัวอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยยังไม่จริงจังในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอค่อนข้างบ่อย ส่งผลกระทบต่อนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ไม่มีการสานต่อนโยบายเดิม ชุมชนจึงมีคำถามว่า ทำอย่างไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ จึงจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกับชุมชนมากขึ้น สานต่อนโยบายเดิมที่มีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างจริงจัง เพราะปัญหาควรได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดยชุมชนเป็นเจ้าของเรื่องหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ หากทำได้อย่างนี้ ชุมชนเชื่อมั่นว่า ในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่านจะสามารถดูแลจัดการทรัพยากรป่า น้ำ และอาชีพ ที่สร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืนแน่นอน

แหล่งข้อมูล: นายสมฤทธิ์ เนตรทิพย์ กำนันตำบลศิลาแลง และประธานคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลศิลาแลง​


​​