Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

เด็กรักษ์ป่า

8มะกังและมะตึ่ง


โครงการ มะตึ่ง มะกัง ในป่าชุมชนบ้านฉัน
โรงเรียนบ้านหาดเค็ด ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
ครูที่ปรึกษาโครงการ อ.วรรณา สมประเสริฐ

บทคัดย่อ
ป่าชุมชนบ้านใหม่สามัคคี เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย ในจำนวนนี้มีพันธุ์ไม้อยู่ 2 ชนิดคือ ต้นมะตึ่งหรือต้นตูมกาขาวและต้นมะกังหรือต้นมะคังแดงที่มีความพิเศษที่น่าสนใจของแต่ละชนิด คือ วิธีรับประทานผลมะตึ่ง เพื่อไม่ให้มีรสขม และเรื่องเล่าเกี่ยวกับของสี ลำต้น กิ่ง ก้านของต้นมะกัง จึงได้ลงพื้นที่สำรวจต้นไม้ทั้ง 2 ชนิด ได้จำนวนทั้งสิ้น 600 ต้น โดยแยกเป็นต้นมะกัง จำนวน 92 ต้นและต้นมะตึ่ง จำนวน 508 ต้น แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนที่แสดงความหนาแน่นของพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดไว้เพื่อเผยแพร่สู่ชุมชนให้ร่วมกันอนุรักษ์สืบไป

หลักการและเหตุผล
ป่าชุมชนบ้านใหม่สามัคคี มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย เช่น ต้นอินทนิล ต้นเปา เป็นต้น มีพันธุ์ไม้อยู่ 2 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในป่าแห่งนี้ และมีความน่าสนใจในการทำการศึกษา คือ ต้นมะตึ่งหรือต้นตูมกาขาว และต้นมะกังหรือต้นมะคังแดง เนื่องจากมีเกร็ดความรู้ และเรื่องเล่าที่น่าสนใจ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ของต้น มะตึ่ง หรือ ตูมกาขาว และต้นมะกัง หรือมะคังแดง
2 .เพื่อศึกษาปริมาณของต้นมะตึ่งและมะกังที่ขึ้นในป่าชุมชน บ้านใหม่สามัคคี

กระบวนการ
1. เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับความรู้ก่อนลงพื้นที่
2. ลงพื้นที่สำรวจป่าชุมชนร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน
3. จับพิกัดต้นไม้ทั้งสองชนิด คือ ต้นมะกังและต้นมะตึง
4. ศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ เช่น หนังสือ อินเตอร์เน็ต และการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน
5. บันทึกข้อมูลและจัดทำแผนที่แสดงความหนาแน่น

บริบทพื้นที่ศึกษา
ป่าชุมชนบ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีป่าชุมชนเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า ก้อตป่าสัก มีอาณาบริเวณประมาณ 80 ไร่เศษ ซึ่งมีเขตติดต่อกับบ้านสบยาวทางเหนือและทิศตะวันตก ส่วน ทางทิศตะวันออก และทางทิศใต้ติดต่อกับที่ทำกินของเกษตรกรของชุมชน พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นที่ลุ่มต่ำ ทำให้มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า ก้อต ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าแพะ หรือป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลายในป่าบริเวณนี้ โดยเฉพาะไม้สัก

ผลที่ได้
ต้นมะตึ่ง หรือ ตูมกาขาว เป็นไม้ยืนต้น ผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีส้ม ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ผลสุกทานได้ มีรสหวาน มีเคล็ดลับว่าจะต้องทานโดยที่ไม่ให้สัมผัสอากาศ ยอดอ่อนจะ มีรสขม สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น ยำ
ต้นมะกัง (มะคังแดง) เป็นไม้ยืนต้น กึ่งไม้พุ่ม ขนาดกลาง ใบดกหนาทึบ ลำต้นและกิ่งก้านสีน้ำตาลแดง โคนต้นและกิ่งมีหนามขนาดใหญ่โดยรอบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใช้เป็นยาพื้นบ้าน แก้เลือดลมเดิน ไม่สะดวก แก้ไตพิการ พอกแผลสด ห้ามเลือด ยาถ่าย และแก้ไข้ นอกจากนี้ต้นมะกังยังมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจสืบต่อกันมา

ผลที่เหนือคาดหมาย
ได้เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติต้นมะกังและเคล็ดลับ ในการรับประทานผลมะตึ่ง
มีเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม
ได้รับความร่วมมือจากปราชญ์ชาวบ้าน
ณัฐวรุต ใจจันทร์
จิณณภรณ์ พรบัวพรรณ
ศักดิ์ชัย กำลังเดช
เอมวรี ปัญจู
พิชญยุตม์ สุริยศ
เปี่ยมทรัพย์ สมประเสริฐ
กัญญาณัฐ แข็งกลาง

ที่มา: โครงการ “ฮักเมืองน่านฮักป่า” ปี 2556 ดำเนินงานโดย มูลนิธิฮักเมืองน่าน