เส้นทางอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน้ำมีด....จากขุดนา สู่ คืนป่าลุ่มน้ำมีด ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด๑๓๒.๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๘๓,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒ ตำบล ๑๕ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลเปือ ๕ หมู่บ้าน (บ้านน้ำมีด บ้านห้วนพ่าน บ้านเด่นพัฒนา บ้านหนองผุก บ้านส้อ) และตำบลพระพุทธบาท ๑๐ หมู่บ้าน (บ้านวังทอง บ้านเหล่า บ้านป่าเลา บ้านภูแหน บ้านแคว้ง บ้านสลี บ้านซาววา บ้านอ้อบ้านตึ๊ด และบ้านไฮหลวง) มีลำห้วยที่สำคัญ คือ ห้วยน้ำมีด ห้วยพ่าน และห้วยม้า
บ้านน้ำมีด เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำมีด ในอดีตชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านด่านบ้านเปียงก่อ และบ้านห้วยกานต์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (เดิมอยู่เขตอำเภอบ่อเกลือ) โดยอพยพมาอยู่ครั้งแรก ๕ ครอบครัว เมื่อปี ๒๕๒๐ เมื่อเห็นว่าสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงชักชวนญาติ-พี่น้อง และเพื่อนบ้านมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้น สมัยที่อพยพมาได้ซื้อที่ดินเพื่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และที่ทำกินโดยซื้อจากชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม ในอดีตยังไม่เปิดพื้นที่ป่ามากนัก เพราะมีไม่กี่ครัวเรือน มีคนในชุมชนเพียง ๒-๓ รายที่ซื้อที่ดินและทำเป็นแปลงนาข้าว คนในชุมชนส่วนใหญ่ปลูกข้าวไร่ เวลาขุดนาชาวบ้านจะขุดด้วยแรงคน มีคนจากบ้านน้ำคามารับจ้างขุด แปลงละ ๑๐๐-๒๐๐ บาท การปลูกข้าวไร่ในอดีตได้ผลผลิตดีเพราะเปิดพื้นที่ป่าใหม่ (ป่าเหล่า) ๑ ครัวเรือนมีป่าเหล่า ๓-๕ เหล่า หมุนเวียนแต่ละปี คนในชุมชนเริ่มหยุดปลูกข้าวไร่เพราะผลผลิตไม่ค่อยดีนักจึงเปลี่ยนจากไร่ข้าวเป็นไร่ข้าวโพดแทน สมัยก่อนชาวบ้านคิดว่าทำอย่างไรคนบ้านน้ำมีดถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงนำพันธุ์ข้าวโพดมาปลูก เพราะข้าวโพดราคาดี ประมาณ ๗ บาทต่อกิโลกรัม พ่อค้าก็แย่งกันซื้อ ชาวบ้านจึงขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ปัจจุบันราคาข้าวโพดไม่ดี ดินเสื่อมสภาพเพราะทำซ้ำในพื้นที่เดิม ชาวบ้านเริ่มเป็นหนี้เพราะราคาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยแพง โดยเฉพาะปี ๒๕๖๐ นี้ ราคาข้าวโพดอยู่ที่ ๔ บาทกว่าต่อกิโลกรัม ชาวบ้านขาดทุนเพราะต้นทุนข้าวโพดอยู่ที่ ๕ บาทกว่าต่อกิโลกรัม แต่ชาวบ้านยังคงปลูกขาย เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ปัจจุบันเหลือไม่กี่รายที่ปลูกข้าวไร่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขุดนา การขุดนาในหมู่บ้านเริ่มจากคนในชุมชนทำกันเองก่อน และเสริมเพิ่มเติมด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ในภายหลัง
หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด เริ่มดำเนินการ ปี ๒๕๔๔ ภายใต้โครงการป่ารักน้ำ รักษ์แผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าน้ำยาว-น้ำสวด) ช่วงแรกที่มาทำงานใหม่ๆ ชุมชนไม่ยอมรับ ไม่เชื่อว่าหัวหน้าหน่วยต้นน้ำ กรมป่าไม้ จะมาช่วยชาวบ้าน คงจะมาจับกุมมากกว่า ที่จริงบทบาทของหน่วยต้นน้ำคือ เน้นการอนุรักษ์ การช่วยเหลือชาวบ้าน เข้าใจชุมชน ซึ่งมีลักษณะงาน ๕ อย่าง คือ
- ศึกษาวิจัยพื้นที่ ว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำมีทรัพยากรธรรมชาติใดอยู่บ้าง
- เก็บน้ำให้อยู่ในดิน คือ การสร้างฝาย
- เก็บดินให้อยู่กับที่ คือ การปลูกแฝก
- ปลูกป่าต้นน้ำเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ให้ป่าสมบูรณ์อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ
- เปลี่ยน “ผู้บุกรุก” ให้เป็น “ผู้พิทักษ์”
ข้อสุดท้ายมีน้ำหนักสำคัญที่สุด แต่ทั้ง ๕ ข้อเป็นสิ่งที่สำนักจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานฯ น้อมนำมาจากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเน้นให้คนและชุมชนอยู่กับป่าอย่างยิ่งยืน โดยมุ่งให้เกิดผลลัพธ์สำคัญคือ สร้างน้ำให้ลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากที่สุด สะอาดที่สุด และไหลทั้งปี การดำเนินงานจึงต้องอาศัยเวลา ความเข้าใจ โดยยึดพื้นที่ “ลุ่มน้ำ” เป็นหลัก จังหวัดน่านมี ๕๑ ลุ่มน้ำ มีหน่วยต้นน้ำ ๕๑หน่วย หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีดเน้นพื้นที่ต้นน้ำบ้านน้ำมีด ได้ลงพื้นที่ส่งเสริมเรื่อง ฝาย แฝก ทำความเข้าใจเรื่องลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด มีกระบวนการเข้าหามวลชน ประเด็นสำคัญคือ หากชาวบ้านยังทำไร่หมุนเวียนต่อไปจะเพียงพอต่อความต้องการของชุมชนและประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ (ปกติแต่ละครัวเรือนทำข้าวไร่ได้ผลผลิตประมาณ ๒๐ ถังต่อไร่) อะไรคือทางเลือกที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้
ขุดนา....ทางเลือกหนึ่งของบ้านน้ำมีด
ประมาณปี ๒๕๕๐ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน (นายทักษิณ ศึกรักษา) ได้รับงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำนา ซึ่งเป็นงานใหม่มาก หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีดจึงเสนอขอรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินการในพื้นที่บ้านน้ำมีด โดยมีตัวชี้วัดว่า หากมีน้ำเพียงพอและชาวบ้านมีนาแล้วชาวบ้านจะหยุดถางป่า แนวคิดดังกล่าวมาจากการที่หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีดได้คลุกคลีกับชาวบ้านและรู้ว่า แท้จริงแล้วชาวบ้านไม่อยากตัดต้นไม้ แต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก หน่วยต้นน้ำจึงค้นคว้าหาข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาองค์ความรู้ด้านวิชาการมาช่วยชาวบ้าน ช่วงแรกมีชาวบ้านสนใจเพียง ๕-๖ รายเท่านั้น
ปีแรกของการขุดนา หน่วยต้นน้ำได้ร่วมกับชาวบ้านเดินสำรวจพื้นที่ และวิเคราะห์ลักษณะพื้นที่ของชาวบ้านแต่ละราย บางรายพื้นที่ที่ต้องการขุดเป็นนาไม่มีความเหมาะสม น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา ก็เสนอพื้นที่อื่นที่เหมาะสมกว่า และสามารถจัดการน้ำสู่แปลงนาได้ จากนั้นหน่วยต้นน้ำใช้แรงงานจากชุมชนและรถไถขุดนา ผลผลิตข้าวในปีแรกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประมาณ ๔๐ ถัง ต่อไร่ ส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถขุดเป็นนาได้ ก็ส่งเสริมให้ปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยขอคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงกลาง และท้องถิ่นท้องที่ การขุดนามีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีข้าวกิน พออยู่พอกิน ไม่ต้องปลูกข้าวโพดขายแล้วซื้อข้าวกินเหมือนในอดีต ดังนั้นหน่วยจัดการต้นน้ำจึงมุ่งส่งเสริมให้คนในชุมชน “หยุดบุกรุกป่า เน้นใช้พื้นที่เล็กเพาะปลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุด” โดยขุดนา ๕ ไร่พร้อมระบบน้ำ เพาะปลูกได้ ๓ ฤดูปลูกต่อปี (ข้าว ถั่ว ข้าวโพด)
ปีที่สองของการขุดนา “ไม่รอรัฐแล้ว ! เฮาทำเอง แต่หัวหน้าช่วยเป็นประกันนะ” เริ่มมีชาวบ้านหลายคนให้ความสนใจและอยากจะขุดนามากขึ้น แต่ไม่มีงบประมาณ ชาวบ้านจึงหารือกับหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด ช่วยนำรถไถมาขุดนา ส่วนชาวบ้านช่วยค่าน้ำมันรถและแรงงาน มีชาวบ้าน ๓๐ กว่าครัวเรือนที่เข้าร่วมและสามารถขุดนาได้ ๑๐๐ กว่าไร่ เมื่อชาวบ้านสามารถทำนาในพื้นที่ ๕ ไร่ และยังสามารถปลูกพืชอื่นได้อีก ชาวบ้านจึงไม่เปิดป่าอีก ผลผลิตข้าวเพิ่มเป็น ๖๐-๗๐ ถังต่อไร่ ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคหนึ่งครัวเรือนตลอดปี ส่วนครัวเรือนที่ไม่ได้ขุดนาอีก ๒-๓ ครัวเรือนก็ไม่เดือดร้อน เพราะในชุมชนมีวิธีแบ่งปันข้าวกัน
ปี ๒๕๕๓ ชาวบ้านเริ่มคืนผืนป่าเป็นเนื้อที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ เดิมเคยใช้ทำไร่หมุนเวียน เมื่อปล่อยทิ้งไว้ ต้นไม้ต่างๆ เริ่มโต ชาวบ้านจึงปล่อยให้เป็นป่า เป็นแหล่งอาหารของชุมชน แนวคิดการคืนป่าเกิดจากการที่ชาวบ้านมีข้าวพอกิน มีแหล่งอาหาร เมื่อหมดฤดูปลูกข้าวก็จะเข้าไปหาของป่า ต๋าว หวาย ครั่ง น้ำผึ้ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละ ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท พื้นที่ป่า ๔,๐๐๐ กว่าไร่ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลนั้น ชาวบ้านได้กันพื้นที่ ๑,๐๐๐ กว่าไร่เพื่อเลี้ยงควายในป่า เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหมู่บ้าน (ควาย ๑ ตัว ราคา ๔๐,๐๐๐ บาท) แกนนำชาวบ้านบางรายสามารถขายควายแล้วนำเงินมาปิดหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้หมด ควายจึงเป็นธนาคารของชาวบ้าน และเป็นวิถีของชุมชนกระบวนการทำงานสานพลังความร่วมมือชุมชน-รัฐ
กระบวนการทำงานของหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด คือการถอดหัวโขนออก ทิ้งความเป็นเจ้าหน้าที่ไว้ข้างหลัง สานและสร้างความสัมพันธ์ ทำตัวเป็นลูกหลานของชาวบ้าน เพื่อลดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เป็นการลดอคติและมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ น้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”
“เข้าใจ” โดยการศึกษาข้อมูลชุมชน จัดเวทีทำความเข้าใจและหาแนวร่วมการทำงาน ที่สำคัญคือการวางแผนการดำเนินงานร่วมกับชุมชน“เข้าถึง” คือการเข้าถึงความต้องการของชุมชน เพิ่มศักยภาพของพื้นที่และสร้างอาชีพ สร้างความเชื่อถือเชื่อมั่น ในตัวเจ้าหน้าที่ ท้ายที่สุดแล้วต้องค้นหาความเหมาะสมภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐกับชุมชน“พัฒนา” พื้นที่ป่าให้ได้รับความคุ้มครอง เกิดความพึงพอใจของทุกฝ่าย คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นท้ายที่สุด...จึงเกิดความสุขทั้งชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ (Win-Win)หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีดยังเปิดโอกาสให้ลูกหลานของคนในชุมชนเข้ามาทำงานในหน่วยต้นน้ำ และยังได้พัฒนาศักยภาพ เช่น การส่งไปเรียนโปรแกรม GIS การจับพิกัด และเปิดโอกาสให้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี จนสามารถสอบเข้ามาเป็นพนักงานราชการของกรมอุทยานฯ คนในชุมชนจึงให้ความเชื่อมั่นกับหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด เพราะเราช่วยพัฒนาศักยภาพของลูกหลานชุมชนได้
ขณะเดียวกันชุมชนยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนการขุดนา พัฒนาอาชีพ และการอนุรักษ์ป่าจากหลายหน่วยงาน โดยเน้นการทำงานเป็นเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่นท้องที่ ชุมชนและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงกลางอบรมให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องการจัดการน้ำ การจัดการแปลงนา และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวสันป่าตอง สำนักงานพัฒนาที่ดินให้คำแนะนำความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลเปือจัดสรรงบประมาณและร่วมกับชุมชนลาดตระเวรป่าและจัดทำแนวกันไฟสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงกลางให้ความรู้ในการดูแลปศุสัตว์ ในปี ๒๕๕๔ บริษัทโรงไฟฟ้าหงสาสนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำ ๓๒ ลูกและทำแนวกันไฟ ปี ๒๕๕๖ โครงการปิดทองหลังพระฯ และศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่านเข้ามาร่วมดำเนินการโครงการหมู่บ้านต่อยอดการพัฒนาประชาคมน่านส่งเสริมคนดีดูแลป่า โดยสนับสนุนท่อ จำนวน ๑,๐๐๐ ท่อ สนับสนุนการซ่อมแซมและสร้างฝายถาวร จำนวน ๒๑ ลูก ทำให้ชุมชนไม่ต้องตัดไม้มาทำฝาย ปี ๒๕๕๗ เครือเจริญโภคภัณฑ์ภายใต้โครงการธรรมชาติปลอดภัย สนับสนุนเงินดูแลป่า ไร่ละ ๑๐ บาท จำนวน ๔๑,๐๐๐ ไร่ และสนับสนุนหลัก จำนวน ๒,๐๐๐ หลัก เพื่อแสดงแนวเขตป่าและที่ทำกินของชาวบ้านคนในชุมชนน้ำมีดมีการลาดตระเวรป่าเป็นประจำ ได้ปักป้ายและนำผ้าเหลืองไปพันต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะไม้กฤษณาหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีดยังได้ร่วมกับชุมชน ๒ ตำบล ๑๕ หมู่บ้าน จัดตั้งสมาคมอนุรักษ์ลุ่มน้ำน่านฝั่งขวา อำเภอเชียงกลางเพื่อดูแลพื้นที่ป่าจำนวน ๗๘,๐๐๐ ไร่
ข้อสำคัญในการทำงานร่วมกับชุมชน คือ ทำให้ชุมชนรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เข้ามากระทบวิถีชีวิตของเขา ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐมีบุคลากรไม่เพียงพอ จึงต้องกระตุ้นคนในชุมชนให้เป็น “ผู้พิทักษ์” คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ด้วยวิธีช่วยให้คนในชุมชนมีข้าวกิน อาหารที่มีในป่าซึ่งเป็นวิถีชุมชนให้เค้าหาอยู่หากินได้ เมื่อคนได้ประโยชน์จากป่าก็จะช่วยกันดูแลรักษาป่า ไฟป่ามาก็ช่วยกันดับ เพราะในป่ามีทั้งผึ้ง สัตว์ป่า วัวควาย ถ้าชุมชนไม่ได้ประโยชน์จากป่า ก็จะไม่เห็นคุณค่าของป่า สรุป “ป่าคือชีวิต ป่าคือความมั่นคงทางอาหารของชุมชน”
สิ่งดีดีที่เกิดขึ้นจากความพยายามมิติทางกายภาพ: ลุ่มน้ำมีดมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ จำนวน ๔๕,๐๐๐ ไร่ คนในชุมชนคืนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนให้กลับมาเป็นป่า จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ และมีการจัดสรรพื้นที่ชัดเจน ทั้งพื้นที่ทำกิน ป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์
มิติทางสังคมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน: คนในชุมชนลดการขยายพื้นที่ โดยหันมาปลูกข้าวนาและพืชหลังนา มีพื้นที่นา ๑๗๐ ไร่ มีรายได้จากการเก็บหาของป่า เช่น เห็ด หน่อ น้ำผึ้ง ครั่ง เป็นต้น บางครัวเรือนลดและปลดหนี้ได้ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยวิจัยและสถาบันการศึกษา ได้จัดตั้งขยายเครือข่ายการดูแลและอนุรักษ์ป่า เป็นสมาคมอนุรักษ์ลุ่มน้ำน่านฝั่งขวา อำเภอเชียงกลาง และสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนเพิ่มขึ้น เกิดวิถีคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
มิติองค์ความรู้และทักษะ : คนในชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะและส่งเสริมความรู้ ทั้งการดูแลป่าต้นน้ำ การจัดทำแนวเขตและพื้นที่รายแปลง การดูแลปศุสัตว์ การทำนาข้าว เป็นต้น ชุมชนน้ำมีดกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานและแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วไป
เงื่อนไขสู่ความสำเร็จความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน้ำมีดเกิดจาก
- วิถีชีวิตของชนเผ่าลัวะที่รักสงบ มีความรักและหวงแหนป่าต้นน้ำ ถ้ารักและศรัทธาใครแล้วก็พร้อมที่จะช่วยเหลือและร่วมมือด้วย
- แนวทางการทำงานที่น้อมนำศาสตร์พระราชา กอปรกับกระบวนการทำงานที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่แบ่งแยก มีความอดทนเพราะการดำเนินงานต้องอาศัยเวลากว่าจะบรรลุผลสำเร็จ
- ความมุ่งมั่นและความใส่ใจของบุคลากรในหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด เพื่อพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และความพยายามให้คนในชุมชนหลุดพ้นจากกับดักหนี้สิน
- ความร่วมมือของหลายภาคส่วนรวมเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน
- มีการวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานตลอดเวลา
ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาในขณะที่บ้านน้ำมีดประสบผลสำเร็จเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางรายที่ฝ่าฝืนไม่เคารพกฎกติกาชุมชน ทั้งเรื่องการดูแลรักษาป่าและการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ยังคงพบการขยายพื้นที่ทำกินบางส่วนและการลักลอบจับปลาในเขตอนุรักษ์ หรือบางครั้งความเข้าใจผิดของคนภายนอก ทำให้คนในชุมชนท้อต่อความพยายามที่จะดูแลรักษาป่าต้นน้ำ อีกทั้งงบประมาณการทำแนวกันไฟและการซ่อมแซมลำเหมืองส่งน้ำสู่แปลงเกษตรไม่เพียงพอ ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแบ่งแนวเขตพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่อยู่อาศัยชัดเจน ชุมชนยังขาดข้อมูลรายแปลงของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการรักษาระดับรายได้ และสิ่งที่ชุมชนขาดคือ องค์ความรู้ในการดูแลจัดการพืชผล และระบบแปลง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาชุมชนบ้านน้ำมีด ควรดำเนินการร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเก็บข้อมูลพิกัดรายแปลงที่ทำกินของคนในชุมชน และพิกัดขอบเขตป่า และแนวกันไฟ สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงลำเหมืองให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ขยายเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำให้คนในชุมชนร่วมกันดูแล ส่งเสริมพืชสร้างรายได้ และช่องทางการตลาด การขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนควรทำความเข้าใจบริบทของชุมชนที่ตนเองจะเข้าไปทำงาน รวมถึงวิเคราะห์ประเมินพื้นที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ข้อท้าทายใหม่ สถานการณ์เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน จะมีอนาคตเป็นอย่างไร เด็กเล็กยังผูกพันกับวิถีชุมชน เข้าป่า หาของป่า จับปลาในลำห้วยได้ แต่เมื่อโตเป็นวัยรุ่น เริ่มออกไปสู่ชุมชนภายนอก วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยน เราจะร่วมจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร
แหล่งข้อมูลนายบัณฑิต ฉิมชาติ | เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
นายแก่น ใจปิง | อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน |
นายประเสริฐ ใจปิง | ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
|